วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รูป สุขศึกษา



เป้าหมายของการสอนสุขศึกษา


เป้าหมายของการสอนสุขศึกษา
          การสอนสุขศึกษาจะบรรลุเป้าหมายมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนหลังจากเรียนรู้วิชาสุขศึกษาแล้ว พฤติกรรมที่ควรเปลี่ยนแปลง มี 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ
1. ความรู้ ( Knowledge ) สุขศึกษาก็มีลักษณะคล้ายกับวิชาเรียนอื่นๆ คือ เรียนแล้วต้องให้เกิดความรู้ ความรู้ทางสุขศึกษา เช่น การรู้จักรักษาทำความสะอาดส่วนต่างๆของร่างกาย การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับอุบัติเหตุ การป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ การป้องกันอันตรายจากโรคติดต่อ ฯลฯ นักเรียนที่มีความรู้ทางสุขศึกษา มีโอกาสที่จะเป็นบุคคลที่มีสุขภาพดีและแข็งแรงสมบูรณ์กว่าบุคคลที่ขาดความรู้ เพราะบุคคลเหล่านั้นจะขาดการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งยังไม่มีความรู้ที่จะส่งเสริมมุขภาพของตนอีกด้วย
          การสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ ครูควรใช้กิจกรรมในการสอนหลายๆอย่างประกอบกัน เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในบทเรียน และช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาการต่างๆ ของวิชาสุขศึกษาเพิ่มมากขึ้นจากเดิม
2. เจตคติ ( Attitude ) การให้ความรู้ทางสุขศึกษาแก่เด็ก ครูหรือผู้ปกครองต้องพยายามให้เด็กมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของวิชาสุขศึกษา เกิดความทราบซึ้ง อยากกระทำในสิ่งที่ตัวเองรู้ ในขณะเดียวกันก็พยายามชักจูงและแนะนำให้บุคคลอื่นได้กระทำในสิ่งที่ถูกสุขอนามัย การเสริมสร้างให้นักเรียนเกิดเจตคติเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะนักเรียนบางคนถูกปลูกฝังเจตคติทางสุขภาพมาจากครอบครัวก่อนแล้ว หากความรู้ใหม่ที่ได้รับสอดคล้องกับความรู้เดิมที่ตัวเองมีอยู่ นักเรียนก็จะเกิดเจตคติที่ดีต่อสุขศึกษาได้ง่าย แต่ถ้าขัดแย้งกัน นักเรียนมักจะมีแนวโน้มเชื่อและปฏิบัติตามความรู้เดิมมากกว่า ฉะนั้น การสอนสุขศึกษาครูจะต้องพยายามทำให้นักเรียนเกิดการรู้แจ้งเห็นจริง ( Insight ) ในสิ่งที่เรียนให้ได้ เพราะการรู้แจ้งเห็นจริงจะมีส่วนทำให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีได้ง่าย
3. การปฏิบัติ ( Practice ) การกระทำหรือการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อนักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อสุขภาพเสียก่อน โดยเฉพาะนักเรียนที่ค่อนข้างโตแล้ว เพราะนักเรียนที่โตแล้วมักจะกระทำสิ่งใดตามความคิดและความเชื่อของตนเอง มากกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของบุคคลอื่น การที่นักเรียนปฏิบัติตัวได้ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ถือเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการสอนสุขศึกษา หากนักเรียนปฏิบัติถูกต้องแลปฏิบัติจนเป็นนิสัยด้วยก็จัดว่า การสอนสุขศึกษาบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะบุคคลส่วนใหญ่จะปฏิบัติในสิ่งใดโดยปราศจากความรู้และเจตคติที่ดีต่อสิ่งนั้นๆย่อมไม่ได้
          สรุปแล้วเป้าหมายของการสอนสุขศึกษา คือ การสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ ( Knowledge ) เจตคติ ( Attitude ) และการปฏิบัติ ( Practice ) ที่ดีทางสุขภาพ หรือการสอนสุขศึกษาทำให้เกิด KAP แต่การสอนสุขศึกษาที่ทำให้นักเรียนเกิด KAP นี้ ครูต้องสอนและเน้นให้แตกต่างกันตามระดับชั้นและวัยของนักเรียน

ชั้น


อันดับ 1

อันดับ 2

อันดับ 3
อนุบาลและประถมศึกษาช่วงแรก
การปฏิบัติ
เจตคติ
ความรู้
ประถมศึกษาช่วงหลัง
( ป. 5-6 )
เจตคติ
การปฏิบัติ
ความรู้
มัธยมศึกษาช่วงแรก
(ม.1-3 )
เจตคติ
การปฏิบัติ
ความรู้
มัธยมศึกษาช่วงหลัง
( ม.4-6 )
ความรู้
เจตคติ
การปฏิบัติ

อุดมศึกษา


ความรู้

เจตคติ

การปฏิบัติ

          นักเรียนชั้นอนุบาลและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ควรเน้นการปฏิบัติเป็นอันดับแรก เนื่องจากเด็กวัยนี้มีประสบการณ์ไม่ค่อยกว้างขวาง ประกอบกับเด็กไม่ชอบการอยู่นิ่งๆ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถตลอดเวลา และช่วงความสนใจก็สั้นมาก เด็กจึงต้องเปลี่ยนกิจกรรมอยู่บ่อยๆ พอเด็กอายุประมาณ 10 ปี ขึ้นไป การสอนจึงเปลี่ยนมาเน้นด้านเจตคติเป็นอันดับแรก ทั้งนี้เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเตรียมเข้าสู่วัยรุ่น เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด และตัดสินใจเองได้ และเด็กวัยนี้ต้องการอิสรภาพในทางความคิดมากกว่าที่จะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำ การที่เด็กจะปฏิบัติในสิ่งใดก็ต่อเมื่อตัวเองเชื่อและศรัทธาในสิ่งนั้นๆเสียก่อน
          นักเรียนชั้นมัธยมช่วงหลังและนักศึกษา ครูต้องเน้นความรู้เป็นอันดับแรก เพราะนักเรียนระดับนี้มีความคิดและประสบการณ์กว้างขึ้น การที่เขาจะปฏิบัติในสิ่งใดก็ต่อเมื่อตัวเองได้คิดอย่างมีเหตุผล ศึกษาข้อเท็จจริงจนเกิดความรู้และเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์จริง ในขณะเดียวกันครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วย

หลักพื้นฐานในการสอนสุขศึกษา


หลักพื้นฐานในการสอนสุขศึกษา
           การสอนที่ดีขึ้นอยู่กับหลักการหลายประการ ครูแต่ละคนต้องพยายามทำให้การสอนมีความหมายและบรรลุผล สอนให้ต่อเนื่องกัน หลักการสอนมีดังนี้
1. ครูและนักเรียนร่วมมือกันวางจุดมุ่งหมาย วางแผนการสอน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และประเมินผลกากรเรียนการสอนร่วมกัน
2. พยายามทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จ เพื่อให้นักเรียนพอใจ มีความพยายามและสนใจสิ่งใหม่ๆ
3. ต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นจริง
4. บทบาทเบื้องต้นของครู คือ กระตุ้นและแนะนักเรียนให้กระทำ มีเจตคติและค่านิยมที่ดี
5. จัดกลุ่มให้นักเรียนแต่ละคน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มความสามารถ
6. ครูต้องจัดบรรยากาศการสอนแบบกลุ่ม ไม่นำนักเรียนแสดงความเป็นกันเอง กระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยและทำหน้าที่สมาชิกที่ดีของกลุ่ม
7. การสอนต้องช่วยให้นักเรียนค้นพบและพัฒนาสติปัญญาของตนเอง บทบาทของครู คือ ช่วยให้ผู้เรียนทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาสามารถจะทำได้และทำได้อย่างดีด้วย
8. การเรียนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการสอนหรือขาดการจูงใจ
9. ช่วยนักเรียนให้รู้จักวิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองเรียนให้ดีที่สุด
10. ค้นหาสาเหตุที่ทำให้นักเรียนเรียนช้าหรือไม่อยากเรียน และพยายามหาวิธีการพัฒนาการเรียนการสอนของตนเอง
11. ใช้โสตทัศนูปกรณ์ให้เป็นประโยชน์และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของการสอนสุขศึกษา


ความสำคัญของการสอนสุขศึกษา
         1. สุขภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากนักเรียนได้เรียนรู้หลักการต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพ จะทำให้นักเรียนมีความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติที่ดีและถูกต้อง ทั้งยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกด้วย
          2.การสอนสุขศึกษาที่ดีและถูกต้อง มีส่วนช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพราะนักเรียนมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ถ้านักเรียนมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ จะทำให้การเรียนไม่ดีเท่าที่ควร
          3. การสอนสุขศึกษาในโรงเรียน มีความเชื่อถือได้มากกว่าความรู้ที่นักเรียนได้รับมาจากแหล่งอื่นๆ เช่น จากเพื่อน ผู้ปกครองและบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นความรู้ที่ได้รับการอบรมถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายได้
          4. การสอนสุขศึกษาให้แกนักเรียนซึ่งอยู่ในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือและปฏิบัติตามคำแนะนำได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ฉะนั้น การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็ก จึงเป็นการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้หลักการเกี่ยวกับสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่ม และจะนำไปดัดแปลงใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองและครอบครัวได้เร็วและมากยิ่งขึ้น
          5. ในวงการศึกษาเชื่อว่า ความรู้หรือประสบการณ์บางอย่างของเด็ก สามารถถ่ายทอดไปสู้ผู้ใหญ่ได้ ถ้าหากความรู้นั้นถูกต้องและสามารถปฏิบัติให้เห็นจริงได้ ฉะนั้น การสอนสุขศึกษาให้แก่นักเรียน ก็เป็นวิธีหนึ่งของการให้สุขศึกษาแก่ชุมชน

จุดมุ่งหมายของการสอนสุขศึกษา


จุดมุ่งหมายของการสอนสุขศึกษา
          1. สอนให้เด็กรู้จักรักษาและปรับปรุงสุขภาพของตัวเอง ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีความสุข และสามารถกระทำการใดๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อชีวิตของตัวเอง ครอบครัวและชุมชน
           2. ส่งเสริมให้เด็ก ผู้ปกครองและบุคคลอื่นๆ เกิดความเข้าใจและเจตคติที่ดีต่อการรักษาและปรับปรุงสุขภาพของตัวเอง ครอบครัวและชุมชน
           3. ปรับปรุงการดำรงชีวิตของตัวเองและชุมชน ให้เป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการช่วยให้ประชากรของชาติมีสุขภาพดียิ่งขึ้น
            4. ผลจากการที่เด็กมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ จะมีผลทำให้เด็กเกิดความสัมฤทธิ์ผลทางด้านการเรียนและการดำรงชีวิตของตนเอง

ความหมายของคำว่า "สุขศึกษา"


ความหมายของคำว่า "สุขศึกษา"
           สมาคมการศึกษาแห่งชาติและสมาคมแพทย์อเมริกัน ได้ให้ความหมายของคำว่า "สุขศึกษา" ไว้ดังนี้ สุขศึกษา คือ ผลรวมของประสบการณ์ที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติ เจตคติและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ Dorothy Nyswander ได้ให้ความหมายของสุขศึกษาไว้ดังนี้
สุขศึกษา คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในตัวบุคคล การเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับความสัมฤทธิ์ผลส่วนบุคคลและส่วนชุมชนตามเป้าหมายทางสุขภาพอนามัย สุขศึกษาไม่สามารถที่จะหยิบยื่นให้บุคคลอื่นโดยบุคคลหนึ่งได้ สุขศึกษาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลวัตรที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยบุคคลอาจยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อมูล เจตคติ และการปฏิบัติใหม่ๆ ซึ่งเกี่ยวกับเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขก็ได้
W.H.O. Technical Report No.89 ให้ความเห็นว่า สุขศึกษาก็เช่นเดียวกับการศึกษาทั่วๆไป คือ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความรู้ ความสามารถและพฤติกรรมของบุคคล สุขศึกษาจะเน้นที่การพัฒนาการปฏิบัติทางสุขภาพอนามัย ซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดสภาวะความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ที่สุด
Mayhew Derryberry ให้ความหมายสุขศึกษาไว้ง่ายๆ เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจดังนี้ สุขศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เจตคติที่มีต่อการป้องกันและรักษา และการปฏิบัติทางสุขภาพอนามัย ตลอดจนนิสัยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์หลายๆอย่างของบุคคลนั้น ดังนั้น สุขศึกษาจึงไม่ใช่กิจกรรมที่จะทำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของประชาชนที่มีต่อประสบการณ์ทางด้านสุขภาพทั้งหมดของเขา
          จากคำจำกัดความต่างๆ ดังกล่าวพอจะสรุปได้ว่า สุขศึกษา คือ ประสบการณ์ทั้งมวลทางด้านสุขภาพที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้ เจตคติและการปฏิบัติที่ดีและถูกต้องต่อสุขภาพของตัวเองและชุมชน ทั้งยังผลให้บุคคลและชุมชนมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การสอนสุขศึกษา


การสอนสุขศึกษา
การสอนสุขศึกษาเป็นงานส่วนหนึ่งของโครงการสุขภาพในโรงเรียน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าการจะส่งเสริมอนามัยของสุขภาพให้ดีและสมบูรณ์แข็งแรงนั้นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่ง แม้แต่ในวงการสุขภาพก็มีแนวความคิดว่าการส่งเสริมบุคคลให้มีสุขภาพดีนั้น ต้องให้ความรู้มากกว่าที่จะรักษา เพราะการให้ความรู้หรือการสอนสุขศึกษาช่วยให้บุคคลรู้จักวิธีป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพของตนเองและบุคคลอื่นให้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ซึ่งเป็นการประหยัดเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งด้วย